หลังจากที่สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยและสมาคมโฆษณาดิจิทัลได้ออกแนวทางปฏิบัติ สำหรับการลงเนื้อหาโฆษณาและการนำเสนอในสื่อออนไลน์ สำหรับห้วงห้วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 เป็นเวลา 8 วัน (6, 18, 19 เมษายน และ 2-6 พฤษภาคม 2562)
ซึ่งในแนวทางปฏิบัตินั้น ก็ยังมีหลายท่านที่สงสัย หรือสอบถามเข้ามา เช่น เรายังสามารถ Boost Post ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ไหม หรือต้องหยุดไปเลย ? การลงคลิปวิดิโอโฆษณาที่ไม่ Boost Post ทำได้ไหม ฯลฯ
ทางทีมงาน Thumbsup จึงได้สอบถามไปทางสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และได้คำตอบที่น่าสนใจ จึงขอสรุปใจความมาให้ทางแบรนด์, เอเจนซี่ และสื่อ ได้ลองเป็นแนวทางกัน
อ่านเพิ่ม : แนวปฏิบัติในห้วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 สำหรับโฆษณา-เนื้อหาออนไลน์
สามารถ Boost Post ในห้วงพระราชพิธีได้หรือไม่ ?
คำตอบคือ “ได้” แต่ในลักษณะที่เป็นโพสต์ปกติ เช่น บทความ, ภาพ, อัลบั้มภาพ หรือหน้าเว็บไซต์ต่างๆ สามารถ Boost Post ในช่วงที่มีพระราชพิธีได้ ซึ่งหากทางแบรนด์หรือเอเจนซี่มีงานโฆษณาที่เป็นลักษณะโพสต์ทั่วไป สามารถลงโฆษณาได้ตามปกติ เว้นแต่งานโฆษณาที่เป็นลักษณะคลิป “วิดิโอ”
โดยในแนวทางปฏิบัตินั้น จะเน้นเรื่องของการลงโฆษณาวิดิโอ ซึ่งทางสมาคมเกรงว่าคลิปโฆษณา อาจจะขึ้นมาในช่วงที่มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธี เช่น Pre-Roll หรือ In Stream ต่างๆ ซึ่งจะดูไม่สมควร
การลง Boost Post ประเภทวิดิโอ หรือลง YouTube Ads ที่เป็นคลิปวิดิโอ สามารถทำได้หรือไม่ ?
คำตอบคือ “ไม่ควร” การโฆษณาประเภท Online Video ทางสมาคมขอความร่วมมือให้งดเว้นการโฆษณาประเภท Online Video ในช่วงวันและเวลาที่มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีฯ ตามที่ได้อธิบายไปในข้อที่ผ่านมา
การลงโฆษณาประเภท Banner สามารถทำได้หรือไม่ ?
สามารถ “ทำได้” แต่ให้ดูความเหมาะสม กล่าวคือ ทางสมาคมขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ ที่จัดทำเนื้อหาหรือถ่ายทอดสดพระราชพิธี ให้ทำหน้าเว็บพิเศษขึ้นมา เพื่อนำเสนอพระราชพิธีโดยเฉพาะ ซึ่งหน้าเว็บพิเศษนี้ไม่ควรจะมีโฆษณาใดๆ
ซึ่งทางแบรนด์หรือเอเจนซี่ ลงโฆษณา Banner ในเว็บไซต์ ที่มีการแยกหน้าเว็บสำหรับพระราชพิธีไปแล้ว สามารถลง Banner โฆษณาต่อเนื่องได้ โดยไม่ต้องหยุดการโฆษณาแต่อย่างใด
การลงโฆษณา Adsense, Banner Programmatic สามารถทำได้หรือไม่ ?
กรณีนี้ขอแนะนำให้พิจารณา “เนื้อหา” ของการลงโฆษณา เนื่องจากผู้ลงโฆษณาไม่สามารถทราบได้ว่า Banner โฆษณาของเราจะไปแสดงผลในเว็บใดบ้าง ? ต่างจากในข้อที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสที่ Banner โฆษณาของเราจะไปแสดงผลในหน้าเดียวกับเว็บที่กำลังถ่ายทอดสดพระราชพิธี
เพราะฉะนั้นเราควรพิจารณาที่เนื้อหาของโฆษณา เช่น โฆษณาที่มีเนื้อหาล่อแหลม หรือโฆษณาที่มีภาพที่ไม่เหมาะสมกับห้วงเวลาดังกล่าว แนะนำให้งดลง
การลงโฆษณาที่เป็นภาพหรือวิดิโอที่แสดงข้อความการแสดงความจงรักภักดี สามารถทำได้หรือไม่ ?
สามารถ “ทำได้” โดยปรากฎพระฉายาลักษณ์และใช้ถ้อยคำให้มีความเหมาะสมต่อห้วงบรรยากาศพระราชพิธีฯ โดยการใช้ตราสัญลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ ข้อความถวายพระพร ขอให้ดาวน์โหลดภาพจากเว็บไซต์ของกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้น
แนวทางปฏิบัตินี้เป็นข้อห้ามหรือไม่ ? หากไม่ทำตามหรือเกิดข้อผิดพลาดในการลงโฆษณา จะมีผลทางกฏหมายใดๆ หรือไม่
จากคำตอบของทางสมาคมเน้นย้ำว่า ทั้งหมดนี้เป็น “แนวทางปฏิบัติ” ไม่ใช่ “ข้อห้าม” เนื่องจากการห้ามลงโฆษณานั้น ทางกสทช.ออกกฏเฉพาะกับสื่อทีวีโทรทัศน์ แต่ในแนวทางที่สมาคมเสนอมานั้น ทางกสทช. ไม่ได้มีการควบคุมหรือกำกับ
ตอบแบบเข้าใจง่าย คือหากทางแบรนด์หรือเอเจนซี่ “ลืม” หยุดการลงโฆษณา ก็ไม่ได้มีผลใดๆ กับทางกสทช. เพียงแต่ให้พิจารณาเรื่องความเหมาะสม
รายละเอียดอื่นๆ
ทั้งนี้ขอความกรุณาสมาชิกสมาคมฯ ศึกษาข้อมูลอ้างอิงอื่นๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อประกอบแนวปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินการมีความสมบูรณ์
- การใช้ตราสัญลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ ข้อความถวายพระพร ขอให้ดาวน์โหลดภาพจากเว็บไซต์ของกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้น
- สามารถหาข้อมูลและรายละเอียดงานพระราชพิธีฯ ที่
- Website : www.phralan.in.th
- Facebook : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก-พุทธศักราช๒๕๖๒
- โทรศัพท์ : 1257 ศูนย์สื่อมวลชนย่อย งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
- สามารถนำไปใช้และเผยแพร่ได้อย่างปลอดภัย กรุณาให้เครดิตและห้ามตัดต่อแต่อย่างใด
- แนวปฏิบัติที่เผยแพร่โดยสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย
- แนวปฏิบัติอื่นๆ ที่คณะกรรมการประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, กสทช. และกรมประชาสัมพันธ์ ได้เผยแพร่ และขอความร่วมมือ
เรียบเรียงโดย
ทีมงาน Thumbsup
The post FAQ : ในห้วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 8 วัน สามารถ Boost Post หรือลง Banner ได้หรือไม่ ? สิ่งที่แบรนด์และเอเจนซี่ควรรู้ appeared first on thumbsup.