เปิดเส้นทาง Yumi Ishikawa ผู้จุดประเด็นแฮชแทค #KuToo ซึ่งทำให้ผู้หญิงทั่วญี่ปุ่นลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิในการสวม “รองเท้าส้นเตื้ย” ในที่ทำงาน ล่าสุด Yumi Ishikawa สามารถรวบรวมรายชื่อสาวซากุระได้มากกว่า 26,000 ชื่อเพื่อเสนอให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกคำสั่งห้ามองค์กรตั้งข้อกำหนดให้พนักงานหญิงสวมรองเท้าส้นสูง ซึ่งจะเป็นเรื่องผิดกฏหมายทันทีหากองค์กรใดบังคับจิตใจใครที่ไม่อยากสวม
Yumi Ishikawa เป็นนักเขียน ศิลปิน และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีที่อาศัยในกรุงโตเกียว จุดเริ่มต้นของการรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเธอเขียน Twitter ถึงเหตุการณ์ถูกบังคับให้สวมรองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน เรื่องราวนี้กลายเป็นไวรัลดังในแดนปลาดิบ จนมีผู้กด like มากกว่า 67,000 ครั้ง และถูก retweet หรือทวีตซ้ำ 30,000 ครั้ง
ไม่นาน Yumi Ishikawa ตัดสินใจใช้ Change.org เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งห้ามองค์กรบังคับพนักงานสวมส้นสูง พร้อมกับคิดแฮชแทคสั้นจำง่าย #KuToo คลัายกับ #MeToo ในสหรัฐฯ โดย #KuToo มาจากการผสมคำ 2 คำระหว่างรองเท้า (kutsu) และความปวด (kutsuu) ล่าสุด Ishikawa จัดงานแถลงข่าวเพื่อยืนยันว่าเธอจะเดินหน้าดันโครงการรณรงค์นี้อย่างเต็มที่
เลือกได้ดีกว่าบังคับ
รายงานวิชาการจำนวนมากฟันธงว่าการสวมรองเท้าส้นสูงเป็นที่มาของอาการปวดคอ เท้า หลัง และขา แน่นอนว่าสาวส่วนใหญ่สามารถดูดีและรู้สึกมีพลังเมื่อสวมส้นสูง แต่ Yumi Ishikawa มองว่าการสวมใส่รองเท้าส้นสูงควรเป็นทางเลือก ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ต้องบังดับกัน
ที่ผ่านมา สำนักงานหลายแห่งทั่วโลกกดดันให้ผู้หญิงสวมรองเท้าส้นสูงด้วยการกำหนดเป็นเครื่องแบบของสำนักงาน สิ่งที่ Ishikawa ต้องการคือล้มล้างการบังคับนี้ หลังจากเหตุการณ์ที่ทำให้ตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวเธอเองและเพื่อนหญิงด้วยกัน
Yumi Ishikawa เล่าว่าเธอถูกกำหนดให้สวมรองเท้าส้นสูงในขณะทำงานที่ห้องรับรองแขกงานทางการ เธอใช้ Twitter เพื่อระบายความไม่พอใจจากการถูกบังคับให้ใส่ส้นเท้า ทวีตของเธอทำให้เกิดไวรัล ซึ่งหลังจากที่แคมเปญ #KuToo เริ่มติดตลาด คำร้องก็ถูกส่งไปยังกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นแล้ว
ความหวังของแคมเปญนี้ คือการตีความให้ข้อกำหนดที่บังคับให้พนักงานหญิงสวมรองเท้าส้นสูงนั้นเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ หรือการล่วงละเมิด Ishikawa กล่าวกับสื่อว่าแคมเปญนี้จะเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคม เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการมารยาทที่ไม่ดี เมื่อผู้หญิงสวมรองเท้าส้นเตี้ยอย่างผู้ชาย
ยังไม่ยอมรับ
รายงานระบุว่าจนถึงขณะนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ยอมรับคำร้องดังกล่าว และหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น (Ministry of Health, Labor and Welfare) ให่สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่ายังไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนกฎว่านายจ้างสามารถกำหนดให้พนักงานสวมใส่เสื้อผ้าหรือรองเท้าได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทสามารถควบคุมพนักงานได้ตามที่เห็นสมควร และคนส่วนใหญ่ในสังคมญี่ปุ่นก็ยังให้ความสำคัญกับรองเท้าส้นสูง (อย่างน้อยก็ในตอนนี้)
ไม่เพียงแค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่ใช้ช่องทางออนไลน์เป็นเครื่องมือระดมเสียงประท้วงส้นสูง เพราะในอังกฤษก็มีการระดมเสียงของประชาชนกว่า 150,000 คน เพื่อลงนามในคำร้องต่อรัฐบาลอังกฤษในปี 2017 เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้อังกฤษก็ยังคงปฏิเสธคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าการเลือกปฏิบัติทางเพศนั้นผิดกฎหมายอยู่แล้วในอังกฤษ และรองเท้าส้นสูงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเสิรมรูปลักษณ์ที่ดูสมาร์ทขึ้นในที่ทำงานเท่านั้น
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครเห็นด้วย เพราะในปี 2017 รัฐบาล British Columbia ก็ลดความเข้มข้นในธรรมเนียมที่กำหนดให้พนักงานหญิงต้องสวมรองเท้าส้นสูง โดยอ้างถึงความเสี่ยงของการบาดเจ็บจากการลื่นหรือล้ม รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเท้า ขา และหลัง
ที่มา: : Fastcompany
The post Yumi Ishikawa จุดไฟแฮชแทคร้อน #KuToo ชวนสาวปลาดิบสู้เพื่อสิทธิ “งดส้นสูง” appeared first on Thumbsup.