Quantcast
Channel: Digital Advertising – Thumbsup
Viewing all articles
Browse latest Browse all 1958

Nielsen วิเคราะห์สถานการณ์ COVID-19 ไม่ได้กระทบการใช้จ่าย แค่เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต

$
0
0

การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส (COVID-19) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวิกฤตที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นอย่างมาก ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือประชาชนรายย่อย

เราได้เห็นบทวิเคราะห์ความเหมือนและความต่าง ระหว่างวิกฤต COVID-19 ในปีนี้กับวิกฤตการณ์ในอดีตมากมาย สถานการณ์นี้ไม่สามารถเทียบกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในอดีตของประเทศไทยได้เนื่องจากการระบาดได้สร้างผลกระทบกับอุตสาหกรรมสื่อที่รุนแรงและรวดเร็วกว่าครั้งไหนๆ

นีลเส็นเผยข้อมูลจากรายงานเม็ดเงินโฆษณาประจำเดือนมกราคม-เมษายน (Nielsen Ad Intel Data) และการวิเคราะห์สถานการณ์ COVID-19 กับอุตสาหกรรมสื่อ 

ผลกระทบของ COVID-19 ต่ออุตสาหกรรมสื่อมีความรุนแรงเทียบเท่ากับช่วงเวลาของการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 แต่ด้วยระยะเวลาที่สั้นกว่า

ย้อนกลับไปเมื่อ 13 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีวิกฤตการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นหลักๆ  สี่เหตุการณ์ด้วยกัน คือ วิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2551 (2008) การชุมนุมประท้วงทางการเมืองในปี พ.ศ. 2553 (2010) อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 (2011) และการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ในปีพ.ศ. 2559 (2016) ซึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้ภาพรวมการซื้อสื่อโฆษณาของทั้งปีติดลบเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าคือวิกฤตเศรษฐกิจ (-2%) และการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 (-10%)

หากเราเทียบผลกระทบของวิกฤตที่เกิดขึ้นในอดีต โดยเจาะจงในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น การระบาดของ COVID-19 สร้างผลกระทบที่รุนแรงกว่าวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นมาทั้งหมด ด้วยระยะเวลาที่สั้นกว่า

จากภาพรวมการใช้งบซื้อสื่อโฆษณาในเดือนเมษายนที่ผ่านมาซึ่งติดลบ 25% เปรียบเทียบกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ติดลบ 5% อุทกภัยที่ติดลบ 3% และการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ที่ติดลบ 28% ซึ่งหลักๆ มาจากการหยุดแพร่ภาพโฆษณาเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อไว้อาลัย

ที่น่าสนใจคือเราเห็นได้ว่าในทุกเหตุการณ์จะมีแพลตฟอร์มที่ยังคงเป็นบวก เช่น สื่อวิทยุและสื่อในห้างในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ สื่อโรงหนังในช่วงการประท้วง หรือสื่อในห้างที่โต 52% ในช่วงการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 กระทั้งเหตุการณ์ COVID-19 เองก็ยังมีสื่ออินเตอร์เน็ตที่เป็นสื่อเดียวที่ยังเติบโตอยู่ถึง 23% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

หน้าที่ของเจ้าของสินค้าและนักการตลาดคือการค้นหาว่าคู่ตาของผู้ชม (eyeball) นั้นไปหยุดอยู่ที่ไหนในสถานการณ์วิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคไม่ได้ดูสื่อน้อยลง และไม่ได้หยุดบริโภคสินค้า เพียงแต่วิกฤตทำให้ผู้บริโภคต้องเลือกมากขึ้น และทำให้พฤติกรรมในการเข้าถึงสื่อเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง

ทั้งนี้วิกฤตเศรษฐกิจใช้เวลาประมาน 1 ปีในการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ในขณะที่การเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ใช้เวลากว่า 2 ปีก่อนที่การลงเม็ดเงินโฆษณาจะกลับสู่สภาวะปกติ

อสังหาริมทรัพย์ และ การท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในทุกวิกฤต

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในแต่ละวิกฤตมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้นๆ อย่างไรก็ตามมีเพียงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยวเท่านั้นที่เราเห็นได้ว่าปรับตัวลดลงในทุกวิกฤตที่เกิดขึ้น

 

สำหรับ COVID-19 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาเติบโตสูงสุด 5 อันดับแรกในเดือนม.ค.-เม.ย. คือ กลุ่มการศึกษา (Education: +75%) กลุ่มวัสดุก่อสร้างและเครื่องจักร (Building Material & Machinery: +35%) กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical Products: +17%) กลุ่มยา (Pharmaceuticals:+13%) และ กลุ่มสินค้าในครัวเรือน (Household Products: +9%)

ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้งบโฆษณาเพิ่มขึ้นนั้น กลุ่มยาและกลุ่มสินค้าในครัวเรือนคือสองกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีขนาดของการใช้งบโฆษณาสูงสุด

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงสูงสุด 5 อันดับคือกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive: -20%) กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage: -13%) กลุ่ม Media & Marketing (-5%) กลุ่มการเงินและธนาคาร ประกันภัย (Finance: -3%) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic: -3%)

ทั้งนี้ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มคืออุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนของการใช้งบโฆษณาสูงสุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามมาด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง และ กลุ่ม Media & Marketing

 

การปรับตัวของครีเอทีฟและการสื่อสารสู่ผู้บริโภคทั่วโลก

วิกฤตโควิดบีบให้นักการตลาดและผู้ผลิตคอนเทนต์โฆษณาต้องปรับกลยุทธ์การสื่อสารและสร้างสรรค์ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อสร้างความมีส่วนร่วม (engagement) และสร้างชิ้นงานสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาในประเด็นต่างๆ ซึ่งเราเห็นแคมเปญใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันเกี่ยวกับโควิด

จากข้อมูลทั่วโลก เราเห็นอุตสาหกรรมการเงิน (Finance) ออกแคมเปญที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโควิดมากที่สุด 31% ตามมาด้วยอุตสาหกรรมค้าปลีก 22% และโทรคมนาคม 7% ในขณะที่ 3 ประเทศที่ออกแคมเปญโฆษณาเกี่ยวกับโควิดสูงสุดคือ อังกฤษ อิตาลี และสเปน ตามลำดับ

ในเรื่องของการออกแบบการสื่อสารเกี่ยวกับโควิด เราเห็นถึงสามรูปแบบหลักที่เกิดขึ้น รูปแบบแรกคือ ‘การรณรงค์เพื่อการกุศล’ ไม่ว่าจะเป็น การรณรงค์ให้บริจาคช่วยเหลือ หรือการที่เจ้าของสินค้าตอกย้ำถึงคำมั่นสัญญาและหน้าที่ในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้บริโภคในช่วงวิกฤต เช่นการโปรโมทเรื่องการนำงบโฆษณามาใช้เพื่อบริจาคเยียวยาผู้เดือดร้อนแทน

รูปแบบที่สองคือ ‘การช่วยเหลือด่านหน้า’ เช่นเจ้าของสินค้าบริจาคหรือส่งมอบสินค้าที่จำเป็นต่อคณะทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของตนเองหรือแพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องกับการต่อสู้โรคระบาดนี้ รวมไปถึงผู้ผลิตที่เปลี่ยนสายการผลิตของตนเพื่อผลิตสินค้าฆ่าเชื้อหรือมาสก์ สำหรับแจกจ่ายให้กับบุคลกรทางการแพทย์และพนักงานด่านหน้า

รูปแบบสุดท้ายคือ ‘การตอกย้ำข้อความ’  ซึ่งเราเห็นแบรนด์ต่างๆ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการปรับแต่งโลโก้ หรือสโลแกนเพื่อย้ำเตือนใจความสำคัญอย่าง การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือการกักตัวอยู่บ้านเพื่อป้องกันการระบาดของโรค

คุณอารอน ริกบี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น มีเดีย ประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้ากลับเข้าสู่สภาวะปกติใหม่ หรือ new normal สิ่งที่อยากจะย้ำเตือนคือการรักษาจุดยืนและความมีส่วนร่วมของแบรนด์กับผู้บริโภค แบรนด์ที่ยืนอยู่ในมุมมืดอาจสูญเสียลูกค้าให้กับแบรนด์ที่อยู่ภายใต้สปอตไลท์ ดังนั้นในขณะที่สถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น

สิ่งที่จำเป็นคือการเตรียมการปรับตัวเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการรับสื่อ สร้างจุดยืนพร้อมรูปแบบการสื่อสารที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว

ยิ่งไปกว่านั้นคือการเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มที่เราต้องการอย่างแท้จริง ผู้บริโภคเปลี่ยนไปฟังอะไร ดูอะไร เล่นโซเชียลที่ไหน และมีส่วนร่วมกับแบรนด์ช่องทางไหน”

‘หัวใจสำคัญของการสื่อสารคือความถูกต้อง ความเชื่อถือได้ และความเอาใจใส่ต่อผู้บริโภค’

The post Nielsen วิเคราะห์สถานการณ์ COVID-19 ไม่ได้กระทบการใช้จ่าย แค่เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต appeared first on Thumbsup.


Viewing all articles
Browse latest Browse all 1958

Trending Articles