เป็นที่ทราบกันดีว่า แม้จะมีการซื้อขายออนไลน์เกิดขึ้นทั่วโลก แต่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการซื้อขายสินค้าในปัจจุบัน ยังอยู่ในรูปแบบออฟไลน์ นั่นก็คือ ผู้บริโภคเดินเข้าไปซื้อของที่ร้านค้าด้วยตัวเอง ซึ่งในอดีต เป็นการยากที่จะวัดว่า สื่อดิจิตอลมีส่วนช่วยให้เกิดการจับจ่ายในลักษณะนี้ได้อย่างไร
นั่นจึงทำให้บริษัทจำนวนมากต่างหาทาง หรือหาตัวชี้วัดเจ๋ง ๆ เข้ามาจัดการปัญหานี้ และเป็นที่มาของตัวชี้วัดชื่อ Store-visit ที่พัฒนาขึ้นโดย Google และมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2014
ผ่านไปสองปี กูเกิลได้มีการโชว์ผลงานของระบบดังกล่าวว่า สามารถจับการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคในการเข้าไปยังร้านค้าได้แล้วกว่า 1 พันล้านครั้ง อีกทั้งยังมีกรณีศึกษาในสามบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ห้าง Target, Nissan UK และ Seven & i Holding ของญี่ปุ่น มาร่วมแถลงด้วย
โดยสิ่งที่ห้าง Target ได้รับผ่านตัวชี้วัดนี้ก็คือ การพบว่าทุก ๆ การคลิก 3 ครั้งบน Mobile Search มีผลทำให้เกิด Store-visit หรือก็คือการมีลูกค้าเข้ามาในตัวห้าง ทางบริษัทจึงเพิ่มการใช้จ่ายบน Mobile Search โดยอิงจากตัวชี้วัดดังกล่าว ขณะที่ Nissan UK พบว่า ทุก ๆ การคลิก 6 ครั้งผ่าน Mobile Search จะมีผลให้เกิด Store-visit เข้ามายังดีลเลอร์เช่นกัน
ทุกวันนี้ตัวชี้วัด Store-visit เปิดให้บริการแก่นักโฆษณา 1,000 รายใน 11 ประเทศ และ Google มีแผนจะขยายบริการ Store-visits tracking ให้มีการใช้งานเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กด้วย แต่ปัญหาข้อหนึ่งของ Google คือ ความแม่นยำของระบบในการชี้โลเคชั่น ซึ่งบางทีอาจยังไม่ตรงเท่าไร โดย Google กำลังหาทางทำให้การชี้โลเคชันของ Store-visit มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยืนยันว่าผู้ใช้อยู่ภายในร้านค้าแล้วอย่างแท้จริง และทำให้ธุรกิจขนาดเล็กมั่นใจมากขึ้นนั่นเอง